หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2556

MLM Series One : (4) Passive Income อยู่เฉยๆ เงินวิ่งหา

Money Loves Me Series One
ตอนที่ 4 : Passive Income อยู่เฉยๆ เงินวิ่งหา


ร่วมดีใจอีกครั้งครับที่คุณสามารถหากระเป๋าเงินเสริมได้แล้วอย่างน้อยหนึ่งใบ แต่คงดีกว่าแน่ๆถ้าเงินไหลเข้ากระเป๋าใบนั้น โดยที่คุณไม่ต้องทำงาน ซึ่งฝรั่งใช้ศัพท์ว่า Passive Income และ โรเบิร์ต คิโยซากิ เจ้าของหนังสือซีรี่ส์ดัง "พ่อรวยสอนลูก" (Rich Dad Poor Dad) เขียนไว้ในเล่มที่ชื่อว่า "เงินสี่ด้าน" (Rich Dad's Cashflow Quadrant) ว่า มีคนสองจำพวกใหญ่ๆที่ "ไม่ต้องออกแรง ก็ได้เงิน" คือ เจ้าของธุรกิจ (Business) และ นักลงทุน (Investor)

เราคุ้นเคยกันดีกับความเป็น "เจ้าของธุรกิจ" ที่รับรายได้จากกิจการที่ตนเองเป็นเจ้าของ ซึ่งขนาด เงินลงทุน เงินหมุนเวียน ผลประกอบการของกิจการนั้นๆ อาจไม่ใข่สาระสำคัญ ต่อให้เป็นธุรกิจเรือนแสนหรือล้านต้นๆ ยังจัดอยู่ในกลุ่มนี้ได้หากเจ้าของสร้างระบบขึ้นมา รับลูกจ้าง (Employee) เข้ามาทำงานตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ รวมถึงผู้จัดการหรือผู้บริหารสูงสุด ที่คอยดูแลกิจการแทนขณะที่เจ้าของสามารถไปไหนทำอะไรได้อย่างอิสระ ขณะที่เงินยังไหลเข้ากระเป๋าตามปกติ ต่างกับเจ้าของธุรกิจระดับร้อยล้านพันล้าน แต่ถ้ายังต้องลุยงานลงแรงเองตลอด ซึ่ง โรเบิร์ต คิโยซากิ ยังจัดให้อยู่ในกลุ่มเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ (Small Business / Self-employed) อยู่ดี

กลุ่มสุดท้าย "นักลงทุน" ซึ่งในอดีตเป็นเรื่องไกลเกินตัวสำหรับคนทั่วไป แต่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กระแสลงทุนมาแรง โดยเฉพาะลงทุนในตลาดหุ้นที่เป็นช่วงกระทิง(ขาขึ้น) มีเศรษฐีหน้าอ่อนเกิดขึ้นมากมาย มีพ็อกเก็ตบุ๊คแนะเล่นหุ้นออกมาไม่ขาดสาย ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า รวมทั้งหนังสือลงทุนรูปแบบอื่นๆ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ กองทุนรวม ทองคำ อสังหาริมทรัพย์

การลงทุนจึงเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว ไม่ใช่กิจกรรมของคนรวยอีกต่อไป คนทั่วไปสามารหาข่าวสารข้อมูลความรู้มาเป็นอาหารสมองได้ง่าย กระทั่งลงทุนในตลาดหุ้น ก็ซื้อขายแค่ไม่กี่คลิกผ่านโน้ตบุ๊คสมาร์ทโฟน ทำที่ไหนก็ได้ที่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต ลงทุนกับหุ้นแต่ละตัวก็ไม่ต้องใช้เงินมากมาย (เป็นพันหรือหมื่นต้นๆก็ได้ แต่ไม่คุ้ม) หรือซื้อหุ้นแบบสะสม เลือกบริษัทที่พื้นฐานดี ผลประกอบการเด่น มีเงินปันผลทุกปี และยังมีอนาคตสดใส แล้วซื้อหุ้นด้วยจำนวนเงินเท่ากันทุกเดือน ไม่ต้องสนใจราคาหุ้นขณะนั้นขึ้นหรือลง (แต่ต้องติดตามข่าวคราวด้วย เพราะพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก บริษัทอาจมีอันเป็นไปแบบไม่คาดฝัน)

สำหรับผู้ที่ไม่เวลาศึกษาหรือติดตามข่าวสาร ก็ใช้วิธีลงทุนกับกองทุนรวมหุ้น เป็นการเอาเงินไปให้มืออาชีพผู้เชี่ยวชาญ(ธนาคาร)ลงทุนแทน จะซื้อขายหุ้นตัวไหน กลุ่มธุรกิจอะไร ที่ราคาเท่าไร ฯลฯ โดยใช้วิธีซื้อสะสมหน่่วยลงทุนด้วยจำนวนเงินเท่าเดิมทุกเดือนเช่นกัน แต่ถ้ากลัวความไม่แน่นอนผันผวนของตลาดหุ้น ก็สามารถลงทุนกับกองทุนรวมรูปแบบที่ปลอดภัย (แต่ผลตอบแทนอาจน้อยกว่า) อย่าง ตราสารหนี้ ตลาดการเงิน อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีความเสี่ยงน้อยกว่าพวกหุ้น นอกจากนี้ลงทุนด้วยการซื้อสิ่งก่อสร้างแล้วปล่อยเช่า บ้าน ทาวน์เฮาส์ ตึกแถว คอนโด หรือที่ดิน ก็เป็นเรื่องคนไทยนิยมทำกัน ยังมีวิธีลงทุนอีกมากมาย ต้องศึกษาเพื่อตัดสินใจว่า รูปแบบไหนถูกจริตหรือเงินทุนของเรา

ปัจจุบันพบว่า แต่ละเดือนผู้มีรายได้ประจำจะแบ่งเงินส่วนหนึ่งไปลงทุนหุ้น กองทุนรวม ทองคำ เพราะผลิดอกออกผลเบ่งบานกว่าฝากธนาคารกินดอกเบี้ย ซึ่งแค่ไม่กี่เปอร์เซนต์ต่อปี แถมยังโดนหักภาษี และถ้าเอาเงินเฟ้อไปคิดด้วย แทบไม่เหลืออะไร อย่างไรก็ดีแม้เป็นการใช้เงินทำงาน แต่ด้วยเงินต้นที่น้อย จึงต้องใช้เวลาหลายปี กว่าไปถึงจุดอิสรภาพทางการเงิน ต่างกับพวกที่พกเงินถุงเงินถังอย่างเจ้าของธุรกิจ ซึ่งผลตอบแทนจะเพิ่มพูนได้มากและรวดเร็วถึงระดับไม่ต้องออกแรงก็ได้เงินที่มากพอจนรู้สึกมั่นคงและมีอิสรภาพทางการเงิน

มองเห็นแบบนี้แล้ว E อย่างเราๆท่านๆ ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของประชากรโลก คงอยากข้ามฟากเงินสี่ด้านมาเป็น B เพื่อรับเงินแบบ Passive Income ก่อนควบตำแหน่ง I อีกทาง

โรเบิร์ต คิโยซากิ ให้ความเห็นว่า ในความเป็นจริงแล้วยาก ส่วนใหญ่เปลี่ยนได้แค่เป็น S ซึ่งยังมีรายรับแบบ Active Income อยู่ดี เพราะมันไม่ง่ายเหมือนเปลี่ยนอาชีพเปลี่ยนงาน ธุรกิจขนาดใหญ่อย่างที่ทำกัน เงินทุนไม่ใช่เงื่อนไขเดียว แต่ยังต้องทุ่มเททั้งกำลังใจ กำลังกาย ความอดทน เวลา และที่สำคัญ ต้องล้วงลงไปถึงแก่นแท้จิตวิญญาณ เปลี่ยนวิธีคิดการมองโลกกันเลยทีเดียว (อ่าน "เงินสี่ด้าน" แล้วจะเห็นว่า E และ S มีความคิดความอ่านอารมณ์ความรู้สึกต่างกับ B และ I อย่างสิ้นเชิง)

มาถึงบรรทัดนี้ มนุษย์เงินเดือนอย่าเพิ่งท้อเพราะ โรเบิร์ต คิโยซากิ บอกด้วยว่า "ยังมีงานของ B ที่ลงทุนต่ำ เสี่ยงน้อย และใช้เวลารวดเร็ว" และอีกข่าวดี "สามารถทำงานประจำต่อไปด้วย" ^^

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น